วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทความทางประชาคมอาเซี่ยน

aec4
อาเซียน จัดเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก่าแก่กลุ่ม หนึ่งในเอเชีย มีอายุเกือบ 40 ปี ฝากชื่อเสียงและผลงานความสำเร็จอย่างสูงในยุคสงคราม อินโดจีน ด้วยการรวมพลังกันคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคและนำความสงบร่มเย็น มาสู่ดินแดนเอเชียอาคเนย์จนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนบทบาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มฉายแววรุ่งโรจน์ในปี 2535 ด้วยการประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าภายในกลุ่มให้หมดสิ้น ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีภายในปี 2553-2558 ขณะนี้กลุ่มอาเซียนได้บรรลุเป้าหมาย AFTA ในระดับหนึ่งแล้ว โดยสินค้าเกือบทั้งหมด (99.6%) ของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ มีอัตราภาษีศุลกากรลดลงเป็นลำดับ ปัจจุบันอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 2.39% ส่งผลให้การค้าขายภายในกลุ่มเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย อาเซียนก้าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างมากในเวทีโลก กระตุ้นให้กลุ่มอาเซียนต้องเร่งกระชับความร่วมมือให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ในที่สุดผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์ Bali Accord II ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกาศจัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่ได้ ดำเนินการอยู่แล้วให้ลึกและกว้างขึ้น ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับเป้าหมายอีก 2 ด้าน ได้แก่ การเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง (ASEAN Security Community : ASC) และประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) เพื่อมุ่งหวังให้อาเซียนเป็นประชาคมเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์ของอาเซียนปี ค.ศ. 2020” (ASEAN Vision 2020) ที่ผู้นำอาเซียนได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการผลักดันให้อาเซียนเป็นหุ้นส่วน ในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง (Partnership in Dynamic Development) ภายในปี ค.ศ.2020

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเป้าหมายล่าสุดทางเศรษฐกิจที่ ทำให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน โดยจะเปิดเสรีทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น นับว่าเป็นรูปแบบของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจทางภูมิภาค (Regional Economic Integration) ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มในลักษณะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นการเป็น สหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union) ดังเช่นสหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งมีการใช้เงินสกุลเดียวกัน ควบคู่กับการเปิดเสรีการค้า การบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งปรับนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป ให้ประสานสอดคล้องกันด้วย

การดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย AEC

การก้าวไปสู่การเป็น AEC ตามมติของผู้นำอาเซียน ดำเนินการโดยเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนที่มีอยู่เดิม และริเริ่มการดำเนินการใหม่เพื่อกระชับความร่วมมือให้แข็งแกร่งขึ้น นับตั้งแต่จัดตั้งอาเซียนในปี 2510 อาเซียนได้ดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เรื่อยมา ได้แก่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) เขตการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA) การเปิดเสรีการค้าบริการตามกรอบความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Trade in Services : AFAS) รวมทั้งความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว

ขณะนี้ อาเซียนเห็นพ้องกันในการเร่งรัดการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สำคัญ 11 สาขา เป็นสาขานำร่อง และกำหนดประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบในแต่ละสาขา ได้แก่ การท่องเที่ยวและการบิน ไทยรับผิดชอบ สินค้าเกษตรและสินค้าประมง (พม่า) ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอ (มาเลเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ (สิงคโปร์) โดยดำเนินการ ดังนี้

* จัดทำร่างความตกลงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ 11 สาขา นำร่อง (ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors) ประกอบด้วยประเด็นเรื่องการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวก การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมืออื่นๆ

* เจรจาจัดทำ Roadmaps สำหรับ 11 สาขานำร่อง จำแนกเป็น

- ด้านสินค้า 9 สาขา ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีมาตรการหลักในการเปิดเสรี และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่างๆ ได้แก่ การลดภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากร มาตรฐานและความ สอดคล้อง และการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และแรงงานที่มีฝีมือ ทั้งนี้สมาชิกอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดการลดภาษีสินค้านำร่องเหลือ 0% ให้เร็วขึ้น 3 ปี เป็นปี 2007 จากกรอบ AFTA เดิมที่ภาษีจะเป็น 0% ในปี 2010 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และเร็วขึ้น 3 ปี เป็นปี 2012 จากกำหนดเดิมปี 2015 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ

- ด้านบริการ 2 สาขา ได้แก่ สาขาท่องเที่ยว และการบิน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้รับผิดชอบหลัก สำหรับด้านท่องเที่ยว ให้เร่งปรับประสานกฎระเบียบในการออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะ เดินทางมาอาเซียน และยกเว้นวีซ่าสำหรับคนอาเซียนที่เดินทางภายในอาเซียน สนับสนุนการการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนด้านท่องเที่ยวของอาเซียนทางอิน เทอร์เน็ต ส่งเสริมการบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือของสถาบันทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้องเพื่อสนับสนุนการวิจัยเชิงลึกด้านท่องเที่ยว ส่วนด้านการบิน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเปิดเสรีการบริการด้านการขนส่งทางอากาศของ อาเซียน นอกจากนี้ ไทย สิงคโปร์ และบรูไนฯ ได้นำร่องนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรีในอาเซียน โดยเปิดเสรีเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้า (Cargo Open Skies Agreement) ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างกันสะดวกรวดเร็วขึ้น