วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ปัญหาของอาเซียนและความพยายามแก้ปัญหา

ปัญหาของอาเซียนและความพยายามแก้ปัญหา
 
อาเซียนมีปัญหาภายในที่ขัดต่อเป้าหมายของประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก และเป็นปัญหาที่กระทบภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของอาเซียน และอาจเป็นอุปสรรคต่อการสร้างบทบาทนำของอาเซียนในอนาคต ปัญหาหลักที่อาเซียนถูกวิจารณ์จากภายนอกมาโดยตลอด ได้แก่ ปัญหาด้านเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในพม่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ถูกต้อง ปัญหาการทุจริต ขาดความโปร่งใสในการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ภายในของประเทศสมาชิก ปัญหาช่องว่างทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน และปัญหาจากอิทธิพลของประเทศนอกกลุ่ม
ปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่ามีสาเหตุมาจากทั้งด้านการเมืองและความหลากหลายทางเชื้อชาติในพม่า โดยพม่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จำนวนมาก กลุ่มชาติพันธุ์หลักมี 19 ชาติพันธุ์ ซึ่งสามารถแยกย่อยลงไปได้ถึง 135 ชาติพันธุ์ กลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในพม่าที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมาก คือ ชาวโรฮิงยา รัฐธรรมนูญพม่าไม่ได้นับรวมชาวโรฮิงยาเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองของพม่า ทำให้ชาวโรฮิงยาไม่ได้รับสัญชาติพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล นอกจากนี้ ชาวโรฮิงยาจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานโดยไม่ได้ค่าแรง ถูกจำกัดสิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในการเข้าถึงการศึกษา การรักษาโรค การห้ามแต่งงาน และไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศไปทำงานได้
ชาวโรฮิงยาส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และถูกปราบปรามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 ทำให้ชาวโรฮิงยาจำนวนมากลี้ภัยไปประเทศอื่น เช่น บังกลาเทศ ปากีสถาน ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น ชาวโรฮิงยาที่อพยพไปมาเลเซียและบังกลาเทศมีจำนวนนับแสนคน ทำให้ทั้งสองประเทศประสบปัญหาการดูแลและการรับมือกับผู้อพยพอย่างมาก มาเลเซียเป็นประเทศที่ชาวโรฮิงยาอยากไปทำงานมากที่สุด ส่วนอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลกก็ต้องเผชิญกับปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงยาจำนวนมากเช่นกัน สำหรับประเทศไทย ได้มีชาวโรฮิงยาอพยพประมาณ 10,000 - 15,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนอง
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงยาไม่ได้เกิดขึ้นในพม่าเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในประเทศที่อพยพไปอยู่ด้วย ทั้งนี้มีสาเหตุเกิดจากการที่รัฐบาลพม่าไม่รับรองชาวโรฮิงยา จึงไม่ถูกจ้างงานตามกฎหมาย ต้องกลายเป็นแรงงานเถื่อน ส่งผลให้ถูกกดขี่ง่ายขึ้น และทำให้ปัญหาแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ในทศวรรษ 2530 มาเลเซียมีนโยบายที่ค่อนข้างประนีประนอมกับชาวโรฮิงยา แต่จำนวนผู้อพยพที่มากขึ้นรวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นจากผู้อพยพ ทำให้มาเลเซียมีนโยบายสกัดกั้นมิให้ชาวโรฮิงยาลักลอบเข้ามาทางทะเล ส่วนชาวโรฮิงยาที่หลบหนีไปบังกลาเทศก็ถูกส่งกลับเช่นกัน
หลายประเทศมีค่ายผู้อพยพ แต่ก็ไม่สามารถรองรับกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มมากขึ้น จึงต้องมีการส่งชาวโรฮิงยากลับไปพม่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) พยายามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ช่วยเหลือและรับชาวโรฮิงยาไว้ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แต่สหประชาชาติก็ไม่สามารถห้ามการส่งกลับได้
ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากผู้อพยพชาวโรฮิงยาและองค์กรต่างๆ ได้เสนอให้อาเซียนมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นต่อปัญหาในพม่า เพราะต้นเหตุของปัญหา คือ การที่รัฐบาลพม่าปฏิบัติไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการไม่แสดงท่าทีรับผิดชอบหรือรับรู้ต่อปัญหาของรัฐบาลพม่า อาเซียนจึงควรมีมาตรการลงโทษพม่าจากเบาไปหาหนัก เริ่มจากการแสดงความไม่เห็นด้วย การประณามอย่างรุนแรงและจริงจังเพื่อกดดันรัฐบาลพม่า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซึ่งต้องได้รับความร่วมมือจากประเทศอื่นที่ทำการค้าการลงทุนกับพม่าด้วยจึงจะสำเร็จโดยเฉพาะจีน อินเดีย และรัสเซีย
นอกจากนี้ อาเซียนควรใช้กลไกของอาเซียนให้เป็นประโยชน์โดยให้อาเซียนทรอยกาหรือกลุ่มประเทศผู้ประสานงานอาเซียน ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อความคล่องตัวในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่ออาเซียน แสดงบทบาทในการแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาในกรณีนี้ รวมทั้งอาเซียนควรส่งคณะผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตัวแทนอาเซียน เช่น เลขาธิการอาเซียนเข้าไปดูสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าและควรผลักดันให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย เพื่อหาทางร่วมกันในการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนปัญหาชาวโรฮิงยาก็ยังต้องมีการร่วมทำงานกันระหว่างรัฐบาลพม่า สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และประเทศที่ได้รับผลกระทบทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยเฉพาะการกดดันให้พม่าแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ อาเซียนควรเป็นสื่อกลางให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เข้ามาทำหน้าที่ดูแลค่ายผู้อพยพทั้งในบังกลาเทศและบริเวณชายแดนไทย-พม่า 
 
อาเซียนยังตั้งความหวังว่ากฎบัตรอาเซียนเป็นเสมือนธรรมนูญของประชาคมอาเซียน จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในพม่า เพราะกฎบัตรอาเซียนจะทำให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีกฎกติกาชัดเจน และเป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดข้อปฏิบัติของประเทศสมาชิกอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อเพิ่มความกดดันแก่ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาอย่างพม่า เป้าหมายของการเป็นประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนประการหนึ่ง คือ การสร้างสังคมที่เอื้ออาทร ยอมรับความแตกต่างที่หลากหลายของพลเมืองอาเซียน ดังนั้น อาเซียนต้องมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในระดับรัฐบาลของชาติสมาชิกและพลเมืองอาเซียน เพื่อไม่ให้มีการกดขี่ หรือการแสดงการเหยียดหยามเชื้อชาติหรือศาสนา และต้องต่อต้านการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาเพราะผู้ที่ถูกกดดันจะใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับมา
 
แม้ว่าอาเซียนจะตั้งขึ้นมาจากเหตุผลทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาบทบาทของอาเซียนที่โดดเด่นที่สุด คือ บทบาทด้านเศรษฐกิจ ความสำคัญทางเศรษฐกิจของอาเซียนต่อเศรษฐกิจโลก คือ เป็นฐานการผลิต เป็นแหล่งลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนทั้งภายในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ที่เข้าไปลงทุนในหลายชาติอาเซียน และนักลงทุนนอกภูมิภาค ที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป เกาหลี และการส่งออกวัตถุดิบ เพราะอาเซียนมีแรงงานฝีมือดี ค่าแรงและวัตถุดิบมีราคาไม่แพง เช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ขณะเดียวกันอาเซียนก็นำสินค้าที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศคู่ค้าอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี่ ด้วยประชากรเกือบ 600 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของประชากรโลก อาเซียนจึงเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อมาก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) คิดเป็นร้อยละ 22 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก
  
อาเซียนมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย เป็นแหล่งเกษตรกรรมสำคัญที่ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด ที่สำคัญ คือ เป็นผู้ส่งออกข้าวและยางพาราที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย พม่า มีทรัพยากรน้ำมัน สิงคโปร์มีเศรษฐกิจร่ำรวยมั่นคง และเป็นศูนย์ทางการเงินการลงทุนของภูมิภาค นอกจากนี้ อาเซียนยังมีความสัมพันธ์ที่ดีทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศมุสลิม เนื่องจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน มีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ และอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดและมีความใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมอื่นๆ ของโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อการขยายตลาดของอาเซียน
 
บทบาทด้านการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน
 
การรวมกลุ่มของอาเซียนประสบความสำเร็จมากในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนพยายามเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในกลุ่มมาอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะสร้างอำนาจในการต่อรองทางเศรษฐกิจในระดับโลก โดยมีเป้าหมายหลัก คือ เพื่อให้เกิดการเป็นตลาดเดียว เริ่มจากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟตา (ASEAN Free Trade Area-AFTA) เมื่อ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและอำนาจต่อรองของอาเซียน แต่อาเซียนมีเป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นประชาคมเศรษฐกิจ เพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจภายในกลุ่มอาเซียนและสร้างความเข้มแข็งแก่อาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก
นอกจากการสร้างความร่วมมือภายในอาเซียนแล้ว อาเซียนยังเน้นการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศและกลุ่มประเทศนอกกลุ่ม ทั้งการมีความสัมพันธ์แบบทวิภาคี เช่น อาเซียนกับจีน และความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศและกับองค์กรเศรษฐกิจในภูมิภาคอื่น ที่สำคัญ ได้แก่
ความร่วมมืออาเซียน+3 (ASEAN+3)
 
เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 2,068 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 31 ของประชากรโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) คิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก
 
ความร่วมมืออาเซียน+6 (ASEAN+6)
 
เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ส่งผลให้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็น 1 ใน 4 ของโลก คือ มีมูลค้าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) คิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก มีจำนวนประชากรมากเป็นครึ่งหนึ่งของประกรโลก คือ 3,284 ล้านคน
 
ความสัมพันธ์ทวิภาคี
 
อาเซียนมีความสัมพันธ์ทวิภาคีในลักษณะของคู่เจรจากับอีก 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย และรัสเซีย รวมทั้งมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและลาตินอเมริกา
 
เป้าหมายทางเศรษฐกิจของอาเซียน
 
แม้อาเซียนจะมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศต่างๆ แต่กล่าวได้ว่าในบรรดาความร่วมมือทางเศรษฐกิจเหล่านี้ อาเซียนไม่ใช่องค์กรที่มีบทบาทนำหรือมีอำนาจในการต่อรองสร้างเงื่อนไขในทางเศรษฐกิจ แม้อาเซียนจะมีความร่วมมือในการทำข้อตกลงการค้ากับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างๆ แต่อาเซียนยังไม่สามารถเพิ่มบทบาทของตนเองให้กลายเป็นศูนย์กลางในการต่อรองหรือมีอำนาจในการตัดสินใจมากกว่าคู่เจรจา ต่างจากประเทศคู่เจรจาของอาเซียน เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ อินเดียที่มีอำนาจต่อรองมากกว่า ดังนั้น การเพิ่มบทบาทนำทางเศรษฐกิจจึงเป็นจุดมุ่งหมายของอาเซียน โดยคาดหวังว่าเมื่อรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งการรวมกลุ่มประเทศเป็นผลดี เพราะจะได้ไม่ถูกโดดเดี่ยว ดังเช่น รัสเซียที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปทำให้ไม่ได้สิทธิพิเศษทางการค้าและภาษีศุลกากรเหมือนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปชาติอื่น รัสเซียจึงต้องหาทางสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทั้งกับสหภาพยุโรป และเรียกร้องให้อาเซียนเริ่มเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับตนโดยเร็ว รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนด้านเศรษฐกิจ ใน พ.ศ. 2563 โดยกำหนดให้อาเซียนเป็นเขตที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก อาเซียนตระหนักว่าแม้จะมีสมาชิก 10 ประเทศ แต่อาเซียนต้องหลอมรวมกับโลกทั้งหมดซึ่งอาเซียนจำเป็นต้องมีนโยบายเร่งปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและข้อเรียกร้องของประเทศคู่ค้า รวมทั้งเร่งแก้ปัญหาทางสังคมและการเมืองที่ทำให้อาเซียนถูกวิจารณ์ โดยเฉพาะปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น